จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม PyCovid ซึ่งได้ประมวลข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2563 จะเห็นได้จากกราฟที่ 1 (บน) ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงกลางเดือนมีนาคมและค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆจนแทบไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่ประเทศไทยมีมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มีประสิทธิภาพ (การควบคุมการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ) และการให้ความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติตนตามแบบวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ (New normal) เช่น หมั่นรักษาความสะอาดบริเวณฝ่ามือโดยใช้เจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่างและความใกล้ชิด รวมถึงการใช้หน้ากากอนามัยในการป้องกันการแพร่หรือรับเชื้อทางระบบหายใจ เป็นต้น มีการให้ความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในการเผยแพร่ข้อมูลการป้องกันและสังเกตอาการทั้งของตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งได้รับความสนใจและให้ความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบในประเทศไทยก็ยังแสดงจำนวนอยู่บ้าง ซึ่งจากรายงานของกรมควบคุมโรคนั้น ผู้ป่วยที่พบเป็นบุคคลที่เดินทางมาจากต่างประเทศและได้รับการตรวจพบการติดเชื้อในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดไว้ให้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ซึ่งแสดงอาการหลังครบกำหนดการกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันด้วย

Picture1

          เมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยจากภาพที่ 1 (กลาง) พบว่ามีจำนวนน้อยมากแสดงถึงความสามารถในการรับมือทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหาย (ภาพที่ 1 ล่าง)

          จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการทำล้อกนอร์มัลฟิตติ้ง (Log normal fitting) ของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ต่อประชากรจำนวน 1 ล้านคนในแต่ละวันดังแสดงในภาพที่ 2 พบว่ากราฟมีลักษณะเป็นรูประฆังคว่ำที่มีฐานค่อนข้างแคบ กล่าวคือ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ถูกพบมากขึ้นเรื่อยๆและถูกรายงานว่ามีจำนวนสูงสุดภายใน 67 วันตั้งแต่วันที่เริ่มบันทึกข้อมูล(Mean) หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

Picture2

          จากข้อมูลที่ประมวลได้ข้างต้น ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศมีน้อยแต่ประชาชนต้องไม่ประมาทและยังต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) จึงได้ประกาศขยายระยะเวลาการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพิ่มอีก 1 เดือน ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

 

          โปรแกรม pycovid.exe เป็นโปรแกรมสำหรับใช้งานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (64บิต) ผู้สนใจใช้โปรแกรมสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมไปใช้ได้ฟรีจากลิงก์ด้านล่าง (โปรแกรมมีฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ) 

                    - ฉบับภาษาไทย (ดาวน์โหลด)

                    - ฉบับภาษาอังกฤษ (ดาวน์โหลด)

          โปรแกรมถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาไพธอน ผู้สนใจพัฒนาโปรแกรม สามารถติดต่อขอตัว source code (Python script) ได้ฟรีเช่นกัน จากผู้เขียน ผศ. ดร.ศุภกร รักใหม่ ที่อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • เว็บไซต์ Thai pbs (https://covid19.thaipbs.or.th/timeline/) วันที่ 25 สิงหาคม 2563
  • เว็บไซต์กรมควบคุมโรค (https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php) วันที่ 25 สิงหาคม 2563
  • เว็บไซต์องค์การอนามัยโลก (https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019) วันที่ 25 สิงหาคม 2563
  • เว็บไซต์ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) (http://www.moicovid.com/) วันที่ 25 สิงหาคม 2563
  • โปรแกรม PyCovid พัฒนาโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สำหรับวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ดึงข้อมูลจาก https://bit.ly/2DlnbCD วันที่ 25 สิงหาคม 2563

 

เรียบเรียงโดย ดร. สุภิญญา นิจพานิชย์

Go to top