จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม PyCovid ซึ่งได้ประมวลข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2563 จะเห็นได้จากกราฟที่ 1 (บน) ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงกลางเดือนมีนาคมและค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆจนแทบไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่ประเทศไทยมีมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มีประสิทธิภาพ (การควบคุมการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ) และการให้ความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติตนตามแบบวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ (New normal) เช่น หมั่นรักษาความสะอาดบริเวณฝ่ามือโดยใช้เจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่างและความใกล้ชิด รวมถึงการใช้หน้ากากอนามัยในการป้องกันการแพร่หรือรับเชื้อทางระบบหายใจ เป็นต้น มีการให้ความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในการเผยแพร่ข้อมูลการป้องกันและสังเกตอาการทั้งของตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งได้รับความสนใจและให้ความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบในประเทศไทยก็ยังแสดงจำนวนอยู่บ้าง ซึ่งจากรายงานของกรมควบคุมโรคนั้น ผู้ป่วยที่พบเป็นบุคคลที่เดินทางมาจากต่างประเทศและได้รับการตรวจพบการติดเชื้อในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดไว้ให้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ซึ่งแสดงอาการหลังครบกำหนดการกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันด้วย
เมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยจากภาพที่ 1 (กลาง) พบว่ามีจำนวนน้อยมากแสดงถึงความสามารถในการรับมือทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหาย (ภาพที่ 1 ล่าง)
จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการทำล้อกนอร์มัลฟิตติ้ง (Log normal fitting) ของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ต่อประชากรจำนวน 1 ล้านคนในแต่ละวันดังแสดงในภาพที่ 2 พบว่ากราฟมีลักษณะเป็นรูประฆังคว่ำที่มีฐานค่อนข้างแคบ กล่าวคือ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ถูกพบมากขึ้นเรื่อยๆและถูกรายงานว่ามีจำนวนสูงสุดภายใน 67 วันตั้งแต่วันที่เริ่มบันทึกข้อมูล(Mean) หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
จากข้อมูลที่ประมวลได้ข้างต้น ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศมีน้อยแต่ประชาชนต้องไม่ประมาทและยังต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) จึงได้ประกาศขยายระยะเวลาการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพิ่มอีก 1 เดือน ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
โปรแกรม pycovid.exe เป็นโปรแกรมสำหรับใช้งานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (64บิต) ผู้สนใจใช้โปรแกรมสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมไปใช้ได้ฟรีจากลิงก์ด้านล่าง (โปรแกรมมีฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ)
- ฉบับภาษาไทย (ดาวน์โหลด)
- ฉบับภาษาอังกฤษ (ดาวน์โหลด)
โปรแกรมถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาไพธอน ผู้สนใจพัฒนาโปรแกรม สามารถติดต่อขอตัว source code (Python script) ได้ฟรีเช่นกัน จากผู้เขียน ผศ. ดร.ศุภกร รักใหม่ ที่อีเมล์ supagorn@slri.or.th
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
เรียบเรียงโดย ดร. สุภิญญา นิจพานิชย์