01

 

          ในขณะที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาดขยายวงกว้างไปในหลายประเทศทั่วโลกและยังไม่มีทีท่าจะหยุดได้นั้น นักไวรัสวิทยาทั่วโลกต้องทำงานแข่งกับเวลาในการที่จะผลิตตัวอย่างไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในห้องปฏิบัติการให้ได้เร็วที่สุด เพื่อจะนำไปใช้ทดสอบยาและวัคซีนต้านไวรัส รวมถึงศึกษาการติดต่อของเชื้อไวรัสนี้ในสัตว์ทดลอง

          ดร.วินเซนต์ มุนสเตอร์ นักไวรัสวิทยาจาก NIAID สหรัฐอเมริกา เผยว่า “ทันทีที่เราได้ทราบถึงการระบาด เราก็ได้ส่งทีมของเราไปลงพื้นที่เพื่อคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรน่า” ทั้งนี้ตัวอย่างไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะถูกส่งจาก CDC ในแอตแลตตา ไปที่แลปวิจัยของ ดร.วินเซนต์ ในสัปดาห์หน้า 

          ตัวอย่างไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้เดิมทีได้ชื่อว่า 2019-nCoV ค้นพบเป็นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาด โดยทีมวิจัยของ ดร.เจิ้งลี่ ฉี นักไวรัสวิทยา จาก Wuhan Institute of Virology ได้คัดแยกเชื้อไวรัสชนิดนี้จากหญิงวัย 49 ปี ซึ่งเริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ก่อนที่เธอจะป่วยเข้าขั้นวิกฤต ผลการทดลองพบว่าเชื้อไวรัสนี้สามารถฆ่าเชลล์มนุษย์ได้ โดยอาศัยกลไกการเข้าทำลายเซลล์มนุษย์คล้ายกับไวรัสโคโรน่าที่ก่อให้เกิดโรค SARS หลังจากนั้น ในวันที่ 28 มกราคม 2563 ห้องแลปวิจัยในประเทศออสเตรเลีย สามารถคัดแยกเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่นี้ได้จากผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากประเทศจีน และสามารถผลิตให้มีปริมาณมากเพียงพอที่จะนำไปแบ่งให้กับแลปวิจัยอื่น ๆ เพื่อใช้ในการพัฒนายาและวัคซีนต้านไวรัส เช่นเดียวกันกับแลปวิจัยในประเทศฝรั่งเศส เยอรมันนี และฮ่องกง ที่ต่างก็สามารถคัดแยกเชื้อไวรัสได้จากผู้ป่วยในประเทศตนได้แล้วในเวลานี้ 

          ทั้งนี้ ดร.วินเซนต์ วางแผนไว้ว่า เมื่อได้รับตัวอย่างไวรัสแล้ว จะทำการระบุชนิดของสัตว์ทดลองที่ตอบสนองต่อไวรัสได้เช่นเดียวกับคนก่อน โดยทางทีมวิจัยจะเริ่มจากการทดลองฉีดไวรัสเข้าไปในหนูที่มีการปรับแต่งพันธุกรรมของมนุษย์ซึ่งมียีนเป้าหมายของไวรัส SARS และไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก่อนเพื่อทำการผลิตวัคซีน จากนั้นจะนำวัคซีนมาทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันการติดต่อในกลุ่มหนูทดลอง และกลุ่มลิงเป็นลำดับถัดไป นอกจากนี้ ก็จะนำไวรัสที่ได้ไปใช้ศึกษาด้านระบาดวิทยาด้วย เช่น ไวรัสนี้มีชีวิตอยู่ในอากาศหรือในน้ำลายได้นานแค่ไหน หรือสามารถติดต่อผ่านละอองน้ำในอากาศได้หรือไม่

          ในขณะเดียวกัน ทีมวิจัยของ ดร.บาร์ธ แฮกมันส์ จาก Erasmus Medical Center อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะระดมการค้นหาแอนตี้บอดี้ต่อเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่ โดยการตรวจเลือดจากผู้ที่หายจากอาการป่วยหรือผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการป่วย ทีมวิจัยยังมีแผนที่จะศึกษาการติดต่อของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในสัตว์อื่น ๆ สู่คนด้วย เนื่องจากมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ทำให้ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ง่ายในอนาคต

 

แคทลียา โรจน์วิริยะ SLRI รายงาน 

 

ที่มา China coronavirus: labs worldwide scramble to analyse live samples https://www.nature.com/articles/d41586-020-00262-7

********************************************************************************

ติดตามความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อการพัฒนาธุรกิจและคุณภาพชีวิต
อย่าลืม กด Like หรือ See First เพจนี้ไว้นะครับ
และเรายังมีวิดีโอ กับเนื้อหาดีๆ อีกมากมายรออยู่
อย่าลืมกด Subscribe Channel ของเราที่
https://www.youtube.com/user/SLRIpr?sub_confirmation=1
สาระและวิทยาศาสตร์สนุกๆ จะปลุกความรู้ให้ชีวิต

______________________________

ติดต่อขอใช้บริการได้ที่ ซินโครตรอนไทยแลนด์ เซ็นทรัลแล็บ
Synchrotron Thailand Central Lab
โทร. 044-217040 ต่อ 1602-5
โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
Synchrotron Light Research Institute (Public Organization)
www.slri.or.th

 

Go to top