แสงซินโครตรอนวิเคราะห์จุดอ่อนไวรัสโคโรน

          จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 2019 ซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่สามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่มนุษย์ได้นั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกหันมาสนใจที่จะศึกษาโครงสร้างของตัวโปรตีนจากไวรัสดังกล่าวที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรค เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นยารักษาโรค

 นักวิจัยชาวออสซี่ ใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์โครงสร้างโปรตีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพื่อใช้ในการออกแบบยาที่มีประสิทธิภาพยับยั้งไวรัสก่อโรคโควิด-19 งานวิจัยดังกล่าวนำโดย Dr. Dene R. Littler จากมหาวิทยาลัยโมนาชและคณะ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนประเทศออสเตรเลีย (ANSTO) หาโครงสร้างของโปรตีน Non-Structural protein 9 หรือ Nsp9 โดยทีมวิจัยมุ่งเน้นไปที่โปรตีนนี้ เนื่องจากมีตำแหน่งจับกับ RNA ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งตัวของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และเรียกตำแหน่งดังกล่าวว่า “ตำแหน่งอนุรักษ์ของวิวัฒนาการ” จึงมีโอกาสน้อยที่จะเกิดการกลายพันธุ์และดื้อยา

          คณะวิจัยได้สังเคราะห์โปรตีน Nsp9 จากนั้นโคลนนิ่งโปรตีนนี้โดยใช้แบคทีเรียช่วยเพิ่มปริมาณโปรตีน และแยกบริสุทธิ์ออกมาจนกระทั่งสามารถตกผลึกโปรตีนได้ แล้วใช้เทคนิค Macromolecular Crystallography จากแสงซินโครตรอนวิเคราะห์โครงสร้างของโปรตีนดังกล่าว ข้อมูลที่ได้เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจการทำงานของโปรตีน Nsp9 เพื่อเป็นแนวทางให้สามารถพัฒนายาที่มีขีดความสามารถในการยับยั้งการติดเชื้อและการแพร่พันธุ์ในเซลล์ของมนุษย์ได้ โดยข้อมูลนี้จะถูกส่งต่อเพื่อนำไปพัฒนายาต้านไวรัสต่อไป

 

Picture09042021

 

ดร.สุกัญญา ไชยป่ายาง   เรียบเรียง

อ้างอิง : https://www.ansto.gov.au/news/aiding-global-research-effort-on-covid-19 and Dene R. Littler, Benjamin S. Gully, Rhys N. Colson,1 and Jamie Rossjohn. Crystal Structure of the SARS-CoV-2 Non-structural Protein 9, Nsp9. iScience 23, 101258.

Go to top