04

 

          ปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลก มีกว่า 3,000,000 คน เสียชีวิตกว่า 2 แสนราย ไม่เพียงแต่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่ต้องทำงานหนักแข่งกับเวลาเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ยังมีนักวิทยาศาสตร์ นักไวรัสวิทยา และนักวิจัยทั่วโลก ต่างก็เร่งศึกษาพฤติกรรมทางชีวภาพของไวรัส SARS-CoV-2 หรือ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เพื่อหวังพัฒนาวัคซีนมาใช้ต่อสู้กับไวรัสนี้ได้เร็วที่สุดเช่นเดียวกัน การศึกษาแนวทางการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดอื่นอาจจะช่วยทำให้สามารถพัฒนาวัคซีน COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้นได้ 

          นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา องค์การอนามัยโลก (WHO) มีนโยบายเชิงรุกในการควบคุมและลดการก่อโรคโปโลโอให้เหลือน้อยที่สุด และพบว่าสามารถลดการระบาดของโรคโปลิโอได้ถึงร้อยละ 99 และช่วยป้องกันเด็กกว่า 13 ล้านคนทั่วโลกไม่ให้ติดเชื้อและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

          ในช่วงแรก วัคซีนโปลิโอที่ใช้อย่างแพร่หลายนั้นเตรียมจากเชื้อโปลิโอสายพันธุ์เซบิน (Sabin virus) ที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง และใช้การหยอดวัคซีนทางปาก (OPV) เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันจากการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามได้พบหลักฐานที่ยืนยันว่าผู้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวนี้ มีความเสี่ยงในการก่อเกิดโรคโปลิโอจากผลข้างเคียงที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งในวัคซีน แม้ว่าโอกาสของผลข้างเคียงจะมีน้อย เพียง 1 ใน 2.4 ล้านโดสก็ตาม แต่หากเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในอัตราที่ต่ำ อาจจะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโปลิโออย่างรุนแรงได้ WHO จึงประกาศยกเลิกการให้วัคซีนโปลิโอแบบหยอดทางปาก ในปี พ.ศ. 2558 และให้เปลี่ยนมาเป็นวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IPV) ที่ผลิตจากไวรัสที่ตายแล้วแทน ทั้งนี้ วัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อก็มีข้อจำกัด คือจะต้องใช้เวลาในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา จึงไม่เหมาะกับการใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเร่งด่วน 

          เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563 นี้ กลุ่มเครือข่ายวิจัยภายใต้การนำของนักไวรัสวิทยา Raul Andino, PhD จากมหาวิทยาลัย University of California San Francisco และ Andrew Macadam, PhD จาก UK's National Institute for Biological Standards and Control (NIBSC) ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิ Bill and Melinda Gates Foundation ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Cell Host & Microbe ถึงความสำเร็จในการทดสอบทางคลินิกเฟสที่ 1 ของวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแบบหยอดทางปากชนิดใหม่ในรอบ 50 ปี 

          วัคซีนนี้เริ่มต้นพัฒนาจากการความเข้าใจถึงพฤติกรรมทางชีวภาพของเชื้อไวรัสโปลิโอที่แสดงขั้นตอนการกลายพันธุ์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ จึงได้ทำการปรับปรุงและออกแบบวัคซีน โดยการเพิ่มเสถียรภาพจีโนมของไวรัส (viral genome) เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสภายในวัคซีนนี้สามารถกลายพันธุ์จนเกิดเป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์ตามขั้นตอน 3 ระยะดังกล่าวได้ แม้ว่าจะพยายามปรับเปลี่ยนสารพันธุกรรมกับไวรัสที่ใกล้เคียงกันก็ตาม ซึ่งงานวิจัยนี้ระบุถึงการทดลองใช้วัคซีนแบบหยอดทางปากชนิดใหม่นี้กับอาสาสมัคร (ในวัยผู้ใหญ่) จำนวน 15 คน ที่ University of Antwerp ประเทศเบลเยี่ยม ซี่งมีภูมิคุ้มกันโรคโปลิโอจากการได้รับวัคซีนชนิดฉีด (ที่มีเชื้อไวรัสที่ตาย) มาแล้ว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเชื้อไวรัสในวัคซีนแบบหยอดเข้าปากชนิดใหม่ (ที่ยังมีเชื้อที่มีชีวิตอยู่แต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง) นี้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่อาสาสมัคร และจากผลการทดสอบพบว่าวัคซีนชนิดใหม่นี้กระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดี้จำนวนมาก มีความเสถียรและประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนชนิดหยอดแบบเดิม ซึ่งจะทำการพัฒนาสู่การศึกษาการใช้งานจริงในเฟสที่ 2 และเฟสที่ 3 เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างวัคซีนเพื่อใช้จริงต่อไป

          จากการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโปลิโอผ่านการเรียนรู้พฤติกรรมทางชีวภาพของไวรัสโดยละเอียด กลุ่มวิจัยคาดว่าจะสามารถนำมาปรับใช้ในการศึกษาพฤติกรรมการระบาดและการก่อโรคของไวรัส SARS-CoV-2 หรือ COVID-19 โดยเริ่มต้นศึกษาในโมเดลของหนูทดลอง ซึ่งมีความคาดหวังว่าจะนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง และสามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายทั่วโลกได้ต่อไป

 

******************************************
แปลและเรียบเรียงโดย : ดร.สุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์
เอกสารอ้างอิง
1.https://www.sciencedaily.com/releases/2020/04/200423130455.htm?fbclid=IwAR2XGIefFfe6QlQ5xuUkRsMXEFGM2jfcxH9rg0VtX0_1E0jgsCHjwlTYsHQ

2.M. T. Yeh, E. Bujaki, P. T. Dolan, M. Smith, R. Wahid, J. Konz, A. J. Weiner, A. S. Bandyopadhyay, P. Van Damme, I. De Coster, H. Revets, A. Macadam, and R. Andino, “Engineering the Live-Attenuated Polio Vaccine to Prevent Reversion to Virulence”, Cell Host & Microbe 27 (2020), 1–16.

 

*****************************************
ติดตามความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อการพัฒนาธุรกิจและคุณภาพชีวิต
อย่าลืม กด Like หรือ See First เพจนี้ไว้นะครับ
และเรายังมีวิดีโอ กับเนื้อหาดีๆ อีกมากมายรออยู่
อย่าลืมกด Subscribe Channel ของเราที่
https://www.youtube.com/user/SLRIpr?sub_confirmation=1
สาระและวิทยาศาสตร์สนุกๆ จะปลุกความรู้ให้ชีวิต
******************************************

ติดต่อขอใช้บริการได้ที่ ซินโครตรอนไทยแลนด์ เซ็นทรัลแล็บ
Synchrotron Thailand Central Lab
โทร. 044-217040 ต่อ 1602-5
โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
Synchrotron Light Research Institute (Public Organization)
www.slri.or.th

Go to top