02

 

          โรคไวรัสตับอักเสบชนิดซี (Hepatitis C virus, HCV) เกิดขึ้นกับมนุษย์หลายร้อยปีก่อน โดยคาดว่าติดมาจากกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ลิงแชมแปนชี โดยจะติดเชื้อที่ตับและสามารถติดต่อกันได้ทางการถ่ายเลือด ผู้ป่วยที่ติดเชื้ออย่างน้อย 80% จะพัฒนาเป็นโรคเรื้อรัง นำไปสู่มะเร็งตับหรือตับล้มเหลว ดังนั้นการติดเชื้อ HCV เป็นภัยเงียบที่อันตราย จากรายงานของศูนย์ควบคุมและการป้องกันโรคคาดว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้ติดเชื้ออาจไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อมาแล้ว จากการเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกันระหว่างผู้ใช้ยาเสพติด คาดการณ์ว่ามีผูู้ติดเชื้อ ไวรัส HCV ประมาณ 150 ล้านคนทั่วโลกซึ่งพบมากในทวีปแอฟริกาและเอเชีย และจะมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเกี่ยวกับตับอย่างน้อย 700,000 คนทุกๆ ปี ปัจจุบันการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีมีความก้าวหน้า แต่มีค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งไปกว่านั้นไวรัส HCV มีโอกาสพัฒนาตัวเองให้ดื้อต่อยารักษาได้ ขณะนี้การพัฒนาวัคซีน HCV เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถประสบความสำเร็จในการทดลองกับผู้ป่วยระดับคลีนิก เนื่องจากไวรัส HCV มีลักษณะคล้ายกับไวรัสชนิด HIV และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไวรัสกลุ่มนี้สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วยการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ประมาณ 20% ของกลุ่มผู้ติดเชื้อสามารถรักษาหายได้เอง ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีศักยภาพในการต่อสู้กับไวรัส HCV นำไปสู่แนวคิดที่ว่าการใช้วัคซีน HCV มีความเป็นไปได้สูง 

          คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยสคริปปส์ (Scripps Research) สหรัฐอเมริกา นำโดยกลุ่มวิจัยร่วมของ ดร. Jiang Zhu ดร. Mansun Law และ ดร. Ian Wilson ค้นพบรูปแบบวัคซีนชนิดใหม่สำหรับไวรัสตับอักเสบชนิดซี ซึ่งประสบความสำเร็จจากการทดสอบเบื้องต้นในหนูทดลอง และตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 

          รูปภาพในคอมเม้นส์แสดงถึงการออกแบบอนุภาคนาโนเคลือบด้วยแกนหลักของโปรตีน E2 เพื่อนำเป็นวัคซีนสำหรับ HCV คณะผู้วิจัยออกแบบวัคซีนโดยมุ่งเป้าไปที่โปรตีน E2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรตีนบนเปลือกไวรัส (Spike) ที่ประกอบด้วย โปรตีน E1 และ E2 โดยโปรตีน E2 นั้นจะจับกับตัวรับ (recepter) ที่ตับ ก่อให้เกิดการติดเชื้อในคนได้ และเป็นเป้าหมายที่สำคัญของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทางนักวิจัยทำการดัดแปลงโปรตีน E2 โดยตัดส่วนที่มีความแตกต่างกันออกไป เหลือเฉพาะส่วนแกนหลักที่สำคัญ (core protein) ของโครงสร้างโปรตีน E2 ซึ่งจะมีความคล้ายกันในแต่ละสายพันธุ์ของ HCV เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดี้ขึ้นมา และสามารถใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบซี คณะผู้วิจัยพัฒนาวัคซีนโดยนำโปรตีน E2 ที่ถูกดัดแปลงแล้วจำนวนมากไปไว้บนผิวของอนุภาคนาโน (nanoparticle) เพื่อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันรับรู้ว่าอนุภาคนาโนนี้เสมือนเป็นไวรัสจริง จากการทดลองฉีดอนุภาคนาโนที่มีโปรตีน E2 ให้กับหนูทดลอง พบว่าหนูสามารถผลิตแอนติบอดี้ได้ดีกว่าการฉีดโปรตีน E2 อย่างเดียว และ จากการทดสอบในหลอดทดลอง พบว่าแอนติบอดี้ที่ผลิตจากหนูทดลองนี้สามารถยังยั้งเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสองสายพันธุ์ที่ต่างกันได้ ในขั้นตอนต่อไปนักวิจัยจะทำการออกแบบวัคซีนชนิด polyvalent คือวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสตับอักเสบซีได้หลายสายพันธุ์ โดยอาศัยแนวคิดนี้สำหรับไวรัสตับอักเสบซีทั้ง 6 สายพันธุ์ที่สำคัญ ซึ่งจะสามารถทดลองวัคซีนต้นแบบได้ในสัตว์จำพวกลิงหรือมนุษย์ภายใน 1 ปี 

          อนึ่ง ในปี 2561 กลุ่มวิจัยของ ดร.Zhu ประสบความสำเร็จในการออกแบบอนุภาคนาโนสำหรับวัคซีน HIV ซึ่งขณะนี้ทางทีมวิจัยได้กำลังพัฒนาวัคซีนโดยใช้วิธีเดียวกันนี้ สำหรับไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด 19 และไวรัสอีโบลา โดยวิธีนี้จะสามารถใช้เป็นแม่แบบสำหรับการผลิตวัคซีน ทำให้สามารถผลิตวัคซีนต้นแบบเพื่อนำไปทดสอบได้อย่างรวดเร็ว

**************************************************************

แปลและเรียบเรียง : ดร.จักรี์รดา อัตตรัถยา และ ดร.รัตนา เจริญวัฒนาเสถียร

ที่มา https://www.scripps.edu/news-and-events/press-room/2020/20200415-zhu-hcv-.html

 

Go to top