“อิรัชชัยมาเซ...” เสียงขานต้อนรับอันเข้มแข็งที่เรามักได้ยินจนชินหูทุกครั้งที่เข้ารับบริการร้านอาหารญี่ปุ่นพร้อมรอยยิ้มและการบริการอันน่าประทับใจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ดึงดูดและสร้างความหลงใหลให้แก่ผู้เข้ารับบริการอย่างเราๆเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหน้าที่ ระเบียบวินัย ระบบสาธารณูปโภคและถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตของประชากรที่จัดได้ว่าดีเยี่ยมเลยทีเดียว
จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) นี้ เราลองมาศึกษาสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อและการได้รับการรักษาจนหายโดยใช้โปรแกรม PyCovid ซึ่งเขียนและพัฒนาโดย ผศ.ดร. ศุภกร รักใหม่ หัวหน้าฝ่ายสถานีวิจัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งสามารถใช้วิเคราะห์ข้อมูลและสร้างกราฟทางสถิติ เพื่อให้ผู้สนใจศึกษาได้ทำความเข้าใจและทำนายแนวโน้มอย่างง่ายๆ ตัวอย่างดังแสดงในภาพที่ 1 และ 2
กราฟจากโปรแกรม PyCovid แสดงข้อมูลตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2563 พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายเดือน มี.ค. และพบว่าเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางเดือน เม.ย. จากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อได้ลดลงเป็นอย่างมาก และมีจำนวนน้อยมากตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. จนถึงปลายเดือน มิ.ย. ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2563 ที่น่าสนใจคือในช่วงปลายเดือน มิ.ย. นี้ จำนวนผู้ติดเชื้อถูกพบว่ามีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่รัฐบาลประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินในวันที่ 14 พ.ค. 2563 ชาวญี่ปุ่นซึ่งรักการทำงานเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็รีบกลับมาทำงานใช้ชีวิตตามปกติ และจากวัฒนธรรมการทำงานแล้ว หลายคนอาจทราบกันดีว่าชาวญี่ปุ่นมักชวนกันไปสังสรรค์ ดื่มกินและร้องคาราโอเกะ ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อยิ่งนัก
แต่หากดูจำนวนผู้เสียชีวิตในภาพที่ 1 แล้ว จะพบว่ากราฟมีลักษณะคล้ายกับกราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่แสดงการเคลื่อน (shift) ไป 5-10 วัน อาจคาดเดาได้ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตนี้มีความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ติดเชื้อ กล่าวคือ การติดเชื้อในระยะแรกของญี่ปุ่นนั้นเป็นการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (cluster) ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้อัตราการเสียชีวิตมีค่าสูงตามไปด้วย อีกประการหนึ่งคือในช่วงแรกของการระบาดยังไม่ทราบแนวทางการรักษาที่แน่นอนและยังไม่มียารักษาเนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้การรับมือทางการแพทย์ทำได้ไม่เต็มที่นัก นอกจากนั้นจำนวนบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณากราฟจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายจะเห็นว่า เริ่มมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาได้หลังการเริ่มระบาดผ่านไป 3 เดือน และเป็นช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลงอย่างมาก อาจเป็นไปได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์เริ่มมีแนวทางการรับมือในการรักษาผู้ป่วยและจำนวนเครื่องมือทางการแพทย์มีเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ณ ขณะนั้น
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคนและแสดงผลในลักษณะกราฟ Log-normal distribution (ดังแสดงในภาพที่ 2) จะเห็นว่ากราฟมีลักษณะคล้ายรูประฆังคว่ำคือจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดสูงสุดแล้วค่อยๆลดลงคล้ายเป็นการสิ้นสุดการแพร่ระบาดในระยะแรก (phase 1) อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อเช่นที่ได้กล่าวมาข้างต้นในช่วงปลายเดือน มิ.ย.และอาจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจนเกิดเป็นรูประฆังคว่ำรูปที่ 2 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าประเทศญี่ปุ่นอาจกำลังก้าวเข้าสู่การแพร่ระบาดระยะที่ 2 ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าระฆังรูปใหม่ที่กำลังจะเกิดนี้จะมีฐานที่แคบและมีความสูงน้อยมากหรือที่ดีที่สุดคืออย่าให้เกิดระฆังรูปที่สองดังเช่นแนวโน้มจากกราฟ
พวกเราขอเป็นกำลังใจเล็กๆน้อยๆ ส่งถึงประชาชนชาวญี่ปุ่นและภาวนาให้สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายในเร็ววัน
โดย ดร.สุภิญญา นิจพานิชย์
นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง
ข้อมูลจาก: https://english.kyodonews.net/news/coronavirus , Facebook fanpage กิ๊ฟจังนั่งเล่า